ภาษีที่ดิน ส่อเลื่อนใช้ปี 63 โยนหน่วยงานท้องถิ่นไม่พร้อม

ภาษีที่ดิน ส่อเลื่อนใช้ปี 63 โยนหน่วยงานท้องถิ่นไม่พร้อม

ส่อเค้าเลื่อนการบังคับใช้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวใน "วาระที่ 1" ออกไปเป็นสิ้นเดือนก.ย.นี้ จากเดิมมีกำหนดจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในก.ค.ที่ผ่านมา โดยการเลื่อนระยะเวลาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 8 นับจากคณะกรรมาธิการรับหลักการของร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560

เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯนำมากล่าวอ้างถึงการเลื่อนระยะเวลาการพิจารณา คือ ความรอบคอบในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ เนื่องจาก เป็นกฎหมายใหม่ที่จะกระทบต่อผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ความไม่พร้อมของหน่วยงานจัดเก็บภาษี ซึ่งในร่างฯกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้ต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ เพราะถือเป็นภารกิจใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุ

นอกจากนี้ การปรับปรุงร่างฯ เพื่อลดกระแสการต่อต้านและทำให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่มีทรัพย์สินจำนวนมากก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของความล่าช้า ยกตัวอย่าง ประเด็นเรื่องมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับยกเว้นควรอยู่ในระดับใด ขณะนี้ ก็ยังไม่ตกผลึกระหว่างไม่เกิน 20 ล้านบาท หรือ ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมเรื่องการกำหนดอัตราการจัดเก็บจริงที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ด้วยแนวทางการจัดเก็บที่ใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี ถือเป็นการปิดช่องโหว่ของการเลี่ยงภาษีตามกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ ที่เดิมจะคิดบนฐานค่าเช่า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของนายทุนและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เก็งกำไรในที่ดินจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญต่อการต่อต้านกฎหมายนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการจัดเก็บภาษีและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยยกเลิกกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ที่มีข้อบกพร่อง อยู่มากจากโครงสร้างอัตราภาษีและ เกณฑ์การลดหย่อนที่ไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจ

ตามร่างกำหนดให้การบังคับใช้กฎหมายมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ขณะที่มีกระแสข่าวว่า อาจจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็น 1 ม.ค.2563 แทนที่จะปล่อยผ่านให้กฎหมายตกไปเนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อลดกระแสความไม่จริงใจในการผลักดันกฎหมาย โดยอ้างเหตุความไม่พร้อมของท้องถิ่นในการเข้าสำรวจพื้นที่ เพราะในระหว่างที่ตัวกฎหมายนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจเข้าไปในบ้านหรืออาคารของเอกชน เพื่อดำเนินการสำรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภาษี เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าบุกรุกได้ ดังนั้น จำเป็นต้องรอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เสียก่อน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ลงมติในหลักการที่สำคัญของตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว รวมถึงอัตราภาษีและขั้นบันไดของภาษีของประเภทที่ดินในแต่ละประเภท โดยมีหลักการสำคัญ เช่น ประเภทที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่ดินและบ้านหลังหลักที่ใช้อยู่อาศัย ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษีนี้

สำหรับเพดานอัตราภาษีนั้น ทางคณะกรรมาธิการได้ปรับลดเพดานภาษีลงประมาณ 40% จากร่างเดิม โดยที่ดินเกษตรกรรมลดลงเหลือ 0.15% จาก 0.2% ที่อยู่อาศัย 0.3% จาก 0.5% อื่นๆ นอกจากเกษตรฯและที่อยู่อาศัย 1.2% จาก 2% และที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 1.2% (เพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%) จาก 2% (เพิ่มขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%) ส่วนอัตราจัดเก็บจริงจะมีบัญชีแนบท้าย เพื่อจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรก และปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่เสนอ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าว คือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และจัดเก็บภาษีจากฐานมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้าง และราคาประเมินทุนทรัพย์ของห้องชุดของกรมธนารักษ์มาใช้คำนวณ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

10 สิงหาคม 2561