เร่งคลอด ภาษีที่ดิน เบรก ราคาบ้าน พุ่ง

เร่งคลอด ภาษีที่ดิน เบรก ราคาบ้าน พุ่ง

อสังหาฯชี้กรุงเทพฯเดินตามรอยเมืองใหญ่ทั่วโลก คนไทยไร้โอกาสเป็นเจ้าของบ้านในเมือง เหตุหาที่ดินยาก ราคาพุ่ง ดันราคาที่อยู่อาศัยแพง จี้รัฐเร่งคลอด ภาษีที่ดินฯกระตุ้นแลนด์ลอร์ดคายที่เบรกร้อนแรงราคาที่อยู่อาศัย ขณะดีเวลลอปเปอร์แห่หนีซบตลาดพรีเมียม

ที่ดินแปลงงามหายากผนวกกับเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ "ความเหลื่อมล้ำ" ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยยิ่งห่างมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดบน เป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนที่ดิน ขณะที่การเข้าถึงแหล่งทุนซื้อที่อยู่อาศัย ยังเป็นปัญหาของผู้มีรายได้น้อยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ซึ่งจะช่วยผลักดันที่ดินออกมาสู่ตลาดเพื่อให้บริษัทรายกลางถึงเล็กนำมาพัฒนาโครงการที่มีราคาลดหลั่นลงมา ทำให้คนระดับกลางสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาษีลาภลอย (การเก็บภาษีที่ดินอัตราเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ) ซึ่งรัฐเตรียมนำมาใช้จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าธุรกิจใจกลางเมืองที่ประกาศการลงทุนและดำเนินโครงการไปแล้วได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษี ขณะที่กลุ่มโครงการที่พัฒนาใหม่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าจะต้องเสียภาษีนี้ทั้งๆที่จริงแล้วอสังหาฯที่เกิดขึ้นตามแนวระบบขนส่งพัฒนาใหม่ต่างเป็นตัวป้อนลูกค้าให้มุ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองไปใช้ชีวิต และการทำงานส่วนใหญ่ในย่านซีบีดีทุกวัน ทั้งนี้สิ่งที่เริ่มเห็นคือลูกค้าต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในไทยมากขึ้นแม้กระทั่งยอดขายของบริษัทเองที่เริ่มเห็นลูกค้าต่างชาติในสัดส่วนกว่า 25-30% ข้อดีคือเป็นกำลังซื้อที่แน่นอนใช้เวลาในการตรวจและโอนเร็ว

ทั้งนี้เชื่อว่ากำลังซื้อระดับล่างยังมีสูงแต่ติดปัญหาต่างๆ เช่น เกณฑ์รายได้, หนี้ครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้รวมถึงการให้สินเชื่อของธนาคารเอง เข้มงวดมากขึ้นตลาดที่ต้องหันไปพึ่งพิงมากขึ้นคือลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาซื้อในแบบบิ๊กล็อต และมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในทำเลที่ตลาดนั้นๆ คุ้นเคยเช่นรัชดาภิเษกที่สามารถทำตลาดกับลูกค้าจีนได้สูงถึง 40%

แนวโน้มราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การเพิ่มช่องว่างการเหลื่อมล้ำ เพราะผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเอื้อมถึง สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การมีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ต้องหันไปอยู่ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมที่มีขนาดเล็ก 20 ตารางเมตร (ตร.ม.) แต่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่แออัดมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเปิดทางให้การเคหะแห่งชาติ (กคช) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราคาจับต้องได้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านการเคหะ บ้านมั่งคง บ้านเอื้ออาทร ออกมาเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสมีที่อยู่อาศัย ซึ่งบ้านเหล่านั้นได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ดินจัดสรรไม่จำเป็นต้องมีขนาด 50 ตารางวาก็ได้ จึงมีบ้านขนาด 20 ตารางวาออกมา การสร้างบ้านในพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

ที่ผ่านมารัฐบาลมีการพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำในการซื้อที่อยู่อาศัย มีการพยายามดำเนินการเรื่องประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (มอร์เกจ อินชัวรันส์) ตลอดจนนโยบายอื่นๆ แต่หลายครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้โครงการขาดความต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ รัฐบาลควรลดค่าธรรมเนียมการโอน ลดภาษี จดจำนองต่างๆ ได้ โดยมาตรการดังกล่าวควรช่วยเหลือเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ไม่ต้องให้ทุกคน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

14 สิงหาคม 2561