อสังหาพุ่ง6แสนล้าน รถไฟฟ้าหนุนเติบโต คาดอีก3-5ปีขยายตัวเลขสองหลัก เร่งเชื่อมสายสีแดง4ทิศ

อสังหาพุ่ง6แสนล้าน รถไฟฟ้าหนุนเติบโต คาดอีก3-5ปีขยายตัวเลขสองหลัก เร่งเชื่อมสายสีแดง4ทิศ

เมกะโปรเจกต์ดันอสังหาฯ ขยายตัว 8% มูลค่า 6.2 แสนล้าน ลุ้น 3-5 ปี โตสองหลัก แนะรัฐพัฒนาโครงข่ายสายสีแดง 4 ทิศ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยในงานประชุมวางแผนและออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ว่า ปีนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 8% หรือมียอดรวม 6.22 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีมูลค่า 5.76 แสนล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งเริ่มทยอยแล้วเสร็จ และกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ ความท้าทายในการพัฒนาระบบรางในอนาคตเพื่อรองรับการจัดผังเมืองและการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทาง คือการกำหนดจุดย่านธุรกิจการค้าและที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางอย่างชัดเจน เพื่อแบ่งสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกิจกรรมอสังหาฯ โดยเฉพาะพื้นที่สถานีรถไฟขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องนำแนวคิดของญี่ปุ่นมาใช้ คือการพัฒนาร้านค้าและร้านอาหารรอบสถานี เพื่อจูงใจให้ผู้เดินทางตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยกระจายเม็ดเงินลงไปในระบบ

ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า ศักยภาพการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตนั้นจะเติบโตอย่างมากในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง อาทิ จ.ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร สระบุรี และขอนแก่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันเมืองซึ่งมีระยะเวลาการเดินทางมากที่สุด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 60-90 นาที ภูเก็ต ระยอง พิษณุโลก และชลบุรี อยู่ที่ 30-60 นาที ตัวเลขดังกล่าวจะส่งผลต่อการวางผังเมืองและการพัฒนาระบบขนส่งหลัก อย่างเช่น รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ซึ่งล้วนมีผลต่อแผนการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตทั้งสิ้น

นายเทอดเกียรติ ลิมปิทีปราการ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งภายในเมืองหลวงนั้น พบว่า ปัจจุบันเกิดปัญหาการจราจรและความแออัดของการเดินทางนั้นกระจุกตัวอยู่ที่ใจกลางของเมืองชั้นในตามโครงข่ายรถไฟฟ้าที่พัฒนาเพื่อประชากรชั้นในมากเกินไป แต่ทุกวันนี้กรุงเทพฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนทำให้มีประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่แถบชานเมือง และยังคงขาดแคลนระบบขนส่งหลักเพื่อเดินทางไปยังใจกลางเมือง

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมควรที่จะเร่งพัฒนาโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้ง 4 ทิศ เพื่อขนถ่ายผู้โดยสารมายังใจกลางเมือง ได้แก่ ช่วงบางซื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทิศเหนือ) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา (ทิศตะวันตก) ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย (ทิศใต้) และช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก (ทิศตะวันออก) ควบคู่ไปกับการวางผังเมืองรวมอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการลงทุนตามแนวเส้นทางรถไฟชานเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี ซึ่งในอนาคตจะเติบโตอย่างมากจากแรงสนับสนุน ด้านจำนวนประชากรตามแนวเส้นทางและการกระจายตัวของความแออัดภายในระบบขนส่งสายหลักในเมือง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

15 สิงหาคม 2561