ทุนปราจีนบุรี ย้ายซบอีอีซี

ทุนปราจีนบุรี ย้ายซบอีอีซี

สภาอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี เผย หลังเกิดอีอีซี ส่งผลโรงงานอุตสาหกรรมย้ายฐานการลงทุนเพียบ เตรียมทำหนังสือเสนอ "สมคิด" นำ จ.ปราจีนบุรีรวมเข้ากับพื้นที่อีอีซี เผย มีความพร้อมในการลงทุนสูง มีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน มีพื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 5.6 หมื่นไร่ ยอดการลงทุนสูงเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออก

นายชาญชัย จินดาสถาพร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของจ.ปราจีนบุรีเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่อีอีซี เพราะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีต่างๆ สูงกว่า รวมทั้งยังสามารถเช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี ต่างจาก จ.ปราจีนบุรี ที่เช่าที่ดินได้ 30 ปี ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนที่ใกล้หมดสัญญาเช่าที่ดิน ก็เริ่มออกไปลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งหากไม่แก้ไขฐานอุตสาหกรรมใน จ.ปราจีนบุรีก็จะลดลงเรื่อยๆ

นายชาญชัย กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.จ.ปราจีนบุรี อยู่ระหว่างการทำหนังสือเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาในเรื่องนี้ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็จะนำเรื่องนี้ขึ้นหารือในเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อให้พิจารณารวม จ.ปราจีนบุรี เข้าร่วมกับพื้นที่อีอีซีต่อไป

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมปราจีนบุรีได้สรุปข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นว่าปราจีนบุรี มีศักยภาพหลายด้านที่เหมาะสมที่จะเข้าไปอยู่ในอีอีซี 7 ประการ ได้แก่

1.ปราจีนบุรีมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนสูง มีสถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออก รองจากชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยในปี 2560 มีจำนวน 25 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนและมูลค่าการลงทุนลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่มีโครงการอีอีซี ซึ่งหากรวมเข้ากับอีอีซีก็มั่นใจว่ามูลค่าการลงทุนของ จ.ปราจีนบุรี จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

2. ปราจีนบุรีมีการพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับระบบการขนส่งหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับอีอีซี ซึ่งมีโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3079 ตอนศรีมหาโพธิ-พญาจ่าย เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 2.714 กม. ปรับปรุงทางแยกโคกขวาง ก่อสร้างจุดกลับรถทางหลวงหมายเลข 304 ตอนกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ตอนปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 17 กม. และโครงการพัฒนาทางหลวงเศรษฐกิจอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยได้ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 28.8 กม. และก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 319 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 38.1 กม. และยังได้ขยายทางหลวง ภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดอีก 5 เส้นทาง เป็น 4 ช่องจราจร ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่ม

3. ปราจีนบุรีเป็น 1 ใน 15 จังหวัดนำร่อง ในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน

4.ปราจีนบุรีมีศักยภาพความเหมาะสมในด้านพื้นที่อุตสาหกรรม โดยมีที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า(สีม่วง)56,318 ไร่ เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว และยังมีสวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี มีพื้นที่ 2,563 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค มีพื้นที่ 1,075 ไร่ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ 2,068 ไร่ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค มีพื้นที่ 7,500 ไร่ และสวนอุตสาหกรรมโรจนะปราจีนบุรี มีพื้นที่ 3,998 ไร่

5.ปราจีนบุรีเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อคมนาคมที่สำคัญที่สามารถเดินทางไป ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกัมพูชา และท่าเรืออย่างสะดวก ซึ่งหากรวมเข้าไปอยู่ในอีอีซี ก็มั่นใจว่าจะมียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน รวมทั้งมีระยะห่างจากพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจไม่มาก โดยห่างจากกรุงเทพฯ 14 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ 110 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 130 กม. ท่าเรือกรุงเทพ 150 กม. ท่าเรือมาบตาพุด 160 กม. อ่าวพัทยา 150 กม. นครราชสีมา 160 กม. คลังสินค้าลาดกระบัง 105 กม.

6. ปราจีนบุรีมีความพร้อมด้านไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ทั่วถึง และมีโรงไฟฟ้าของเอกชน ที่สามารถรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

และ 7. ปราจีนบุรีมีความพร้อมด้านปริมาณน้ำต้นทุน มีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ความจุกว่า 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอทั้ง ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการแปรรูปเกษตรต่างๆ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนและระบบประปา

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า จ.ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญ ในภาคตะวันออก และยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่โดดเด่นเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่โรงงานเข้ามาตั้งใหม่ และขยายกิจการเป็นจำนวนมากทุกปี หากไม่นำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี ปล่อยให้มีการย้ายฐานการผลิตออกไปก็จะยิ่งน่าเสียดาย เพราะกว่าจะถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาการพัฒนาหลายปีและใช้เงินลงทุนมหาศาล

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

22 สิงหาคม 2561