ย้ายเรียบกระทรวงใหญ่ คุมผังอาคารเกาะรัตนโกสินทร์

ย้ายเรียบกระทรวงใหญ่ คุมผังอาคารเกาะรัตนโกสินทร์

กระทรวงใหญ่เข้าคิวย้ายที่ทำการตามมหาดไทย รับแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ "คมนาคม" จองที่ดินรถไฟย่านบางซื่อสร้างอาคารใหม่ ก.ท่องเที่ยวฯ เล็งเช่าพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 3 หมื่น ตร.ม. ด้านกทม.ขานรับเตรียมปรับผังเมืองคุมเข้มการพัฒนา 5 บริเวณหลักทั้งชั้นใน-ชั้นนอกเกาะเมือง ห้ามผุดตึกสูง อาคารขนาดใหญ่ พร้อมคุมโทนสีอาคาร-หลังคา ปั้นถนน

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีแผนจะจัดระเบียบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนา กทม.ระยะ 20 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575 ให้ กทม.เป็นมหานครแห่งเอเชีย เป็นเมืองชั้นนำด้านเศรษฐกิจภาคบริการ ปลอดภัย สะดวกสบาย สวยงาม น่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นไปตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนี้แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับปรุงแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ฉบับปี 2560 โดยขยายขอบเขตพื้นที่ครอบคลุม 1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก 3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ 4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม และ 5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

หลังแผนแม่บทดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. หน่วยงานเกี่ยวข้องจะต้องนำผลศึกษาที่นำมาจัดทำเป็นแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ แทนแผนแม่บทเดิมซึ่งจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2540 มาปฏิบัติ และดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท เช่น ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบการจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว การท่องเที่ยว และวิถีชุมชน

ขณะที่ผังเมือง กทม.อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมการออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดสถาปัตยกรรมอาคารต่าง ๆ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเดียวกัน เช่น สไตล์ยุโรป เนื่องจากพื้นที่ชั้นในมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่อยู่จำนวนมาก นอกจากจะคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวม กทม.ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน หรือเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จะควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่

ขณะที่นายสุพจน์ วงศ์พรหมท้าว โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนย้ายที่ทำการกระทรวงว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้แจ้งความประสงค์ขอใช้พื้นที่โซนซี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำหรับเป็นที่ทำการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งนอกจากส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (ถ.ราชดำเนิน) แล้ว ยังมีส่วนของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงกรมพลศึกษา (บางส่วน) ที่ปัจจุบันอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ (ถ.พระราม 1) มารวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด

ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้จัดทำแผนการใช้พื้นที่เบื้องต้นเสนอกรมธนารักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นแจ้งขอใช้พื้นที่รวม 30,000 ตร.ม. คาดว่าแผนทั้งหมดน่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติได้ภายในปี 2562 และดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 สอดคล้องกับที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า แผนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ในโซนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะมีบางกระทรวงต้องย้ายออกจากบริเวณที่ตั้งเดิม เหตุผลเป็นเรื่องของความคับแคบและแออัดเป็นหลัก ส่วนในมิติการท่องเที่ยวหากสามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้ดี และสร้างแลนด์มาร์กขึ้นมาได้ เชื่อว่าจะทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหมือนในหลาย ๆ ประเทศที่มีการทำถนนและปรับปรุงพื้นที่ให้คนเดินเที่ยวได้สะดวก

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาเรื่องการขอใช้ที่ดินสนามกอล์ฟชลประทาน 100 ไร่ จากกระทรวงเกษตรฯ หลังจากทำหนังสือขอใช้พื้นที่สนามกอล์ฟของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงมหาดไทยไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากกระทรวงเกษตรฯ ว่าจะตอบกลับมาเช่นใด จึงยังไม่ถึงขั้นตอน ของการตั้งงบประมาณในเรื่องย้ายกระทรวง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

27 สิงหาคม 2561