แจง อีอีซี เอื้อประโยชน์ชาติ

แจง อีอีซี เอื้อประโยชน์ชาติ

"คณิศ" ชี้แจง พ.ร.บ.อีอีซี ไม่เอื้อประโยชน์ต่างชาติไล่ซื้อที่ดินในไทย ย้ำหลักเกณฑ์คลอดแผนก่อนวางผังเมืองเป็นไปตามกฎหมาย คาด 6-12 เดือนนี้ เห็นภาพผังเมืองชัด ก่อนเดินหน้าพัฒนาพื้นที่จริง ระบุเงื่อนไขต่างชาติถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เกิน 49% ได้เฉพาะพื้นที่ไข่แดง 3 จังหวัด และต้องส่งคืน หากไม่ได้ประกอบธุรกิจเกิน 3 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยถึงรายละเอียดของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่มีการท้วงติงของการเปิดกว้างต่างชาติดำเนินธุรกิจ โดยระบุว่าเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา การลงทุนของต่างชาติต่ำมาก และสิ่งที่เห็นคือรัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุน โดยปรับหลักเกณฑ์หลายอย่าง ผ่าน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และสร้างกลไกใหม่เป็น กองทุนพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้สิทธิประโยชน์ทันสมัยขึ้น และเป็นผลให้มีการลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 122% ในปัจจุบัน

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัย เรื่องการทำผังเมืองในอีอีซี ซึ่ง กพอ.มีส่วนร่วมและเร่งรัดการจัดทำผังเมือง โดยขณะนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการตามข้อระเบียบที่เคยมีมา ซึ่งในฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง มีผังเมืองของเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการวางโครงสร้างพื้นฐานผ่าน ทำให้พื้นที่จัดใช้ประโยชน์ปรับเปลี่ยนไปจึงต้องปรับผังเมืองใหม่ ซึ่งคาดว่า 6-12 เดือนหลังจากนี้จะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. อีอีซี กำหนดในมาตรา 29 ให้จัดทำแผนภาพรวมของการพัฒนาอีอีซีให้แล้วเสร็จก่อน โดย กพอ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติภาพรวมโครงการไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขั้นตอนหลังจากนี้จึงเริ่มเดินหน้าตามมาตรา 30 ว่าด้วยการจัดทำผังเมืองได้

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดต้องเป็นอาคารชุดที่ถูกพัฒนาอยู่ในพื้นที่จำกัด 3 จังหวัดไข่แดง และต่างชาติต้องทำงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะเป้าหมายให้เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ที่พัฒนาโครงการ หากกำหนดตามกฎหมายทั่วไป จำกัดให้ต่างชาติถือได้แค่ 49% หากไม่มีคนไทยเข้ามาถือครองในสัดส่วน 51% อาจทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการพัฒนาคอนโดมิเนียมทั่วพื้นที่อีอีซี เพราะการจำกัดพื้นที่อยู่อาศัย และปลดล็อกกฎหมายถือครองของต่างชาติจะทำให้มีโครงการคอนโดมิเนียมเฉพาะจุด

ส่วนขณะที่การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ยืนยันว่า ไม่เคยมีข้อมูลเขียนไว้ โดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ. เช่าที่ดินประกอบการกิจการและพาณิชยการ ตั้งแต่ปี 2549 กำหนดให้เช่าที่ดิน 50 ปี และอาจขยายได้อีกไม่เกิน 50 ปี แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.อีอีซี ให้เช่า 50 ปี แต่อาจขยายให้ได้อีกไม่เกิน 49 ปี

ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการพัฒนาอีอีซี ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา มี 5 เรื่องที่ทำ 1. โครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามเป้าหมาย รถไฟความเร็วสูงออกเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) แล้ว และคาดว่าภายในปีนี้จะได้ตัวผู้ลงทุน หลังจากนี้จะมีโครงการสนามบินอู่ตะเภาพัฒนาเป็นเมืองการบิน คาดว่าทีโออาร์ จะออกได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ เช่นเดียวกับท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรืออู่ตะเภา อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินงาน คาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ ไม่เกินเดือน ต.ค.เช่นเดียวกัน สุดท้ายโครงการที่เกี่ยวกับการบินไทย และแอร์บัส ก็กำลังดำเนินการอยู่ รวมไปถึงการพัฒนาด้านดิจิทัลด้วย 2. การลงทุนโดยเชื่อว่า 60% ของมูลค่าที่ขอส่งเสริมการลงทุนจะเริ่มต้นลงทุนในปีหน้า 3. การท่องเที่ยวที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับภาคท้องที่เป็นหลัก  4. โครงสร้างพื้นฐานเมืองได้ยกระดับโครงการระดับล่างขึ้นมาและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วแล้ว และ 5. การศึกษา ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เข้ามาช่วยเอาคอนเซปต์การสร้างคนให้มีงานทำ เข้าไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งกระทรวงแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยทำเทรนนิ่งระบบแรงงาน และทดสอบความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

5 กันยายน 2561