แบงก์ชงผู้บริหารชี้ขาดข้อเสนอคุมสินเชื่อบ้าน

แบงก์ชงผู้บริหารชี้ขาดข้อเสนอคุมสินเชื่อบ้าน

สมาคมแบงก์ยังไม่สรุปข้อความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการคุมสินเชื่อบ้านของธปท. เผยให้แต่ละแบงก์กลับไปหารือกับผู้บริหารก่อน ขีดเส้นส่งความเห็นกลับมาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนส่งให้ธปท.ก่อน 22 ต.ค หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดชี้แจงและรับฟังความเห็น(เฮียริ่ง) กับผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน ถึงมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้นัดหารือสมาชิกฯเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวนโยบายดังกล่าววานนี้ (16 ต.ค.) หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องถึงการออกมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้นัดหารือสมาชิกฯเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวนโยบายดังกล่าววานนี้

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกับสมาชิกในสมาคมฯเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอ เกี่ยวกับแนวนโยบายคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย( Macroprudential) นั้น ล่าสุดยังไม่มีข้อเสนอหรือข้อสรุปสุดท้ายออกมาเป็นรูปธรรม เนื่องจากการหารือดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอร่วมกัน หลังมีการเข้ารับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากธปท.เมื่อสัปดาห์ก่อนในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งแต่ละแบงก์จะต้องนำข้อเสนอต่างๆไปหารือกับระดับผู้บริหารของแต่ละแบงก์ต่อไป และส่งข้อเสนอความเห็นกลับมาทางสมาคมธนาคารไทยภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้สมาคมฯมีการรวบรวมความเห็นต่างๆเสนอกับธปท.ให้รับทราบก่อนวันที่ 22ต.ค.นี้

การหารือครั้งนี้ เป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน หลังไปฟังเฮียริ่งมา ซึ่งแต่ละธนาคารก็ต้องนำสิ่งที่คุยกันกลับไปคุยกับผู้บริหารของแต่ละแบงก์ ว่าเห็นชอบอย่างไรหรือไม่ โดยข้อเสนอแนะครั้งนี้แบ่งเป็นสองด้าน ด้านแรก คืออาจเอาข้อเสนอต่างๆมาวางมาตรฐานในการใช้ปล่อยสินเชื่อบ้านให้เป็นแนวปฏิบัติ และกติกาเดียวกัน หากนอกเหนือจากนั้น แบงก์ก็สามารถเสนอไปเป็นรายแบงก์ได้ ซึ่งพรุ่งนี้คาดว่าจะมีการรายงานและพูดกันเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ของสมาคมธนาคารไทยเรื่องนี้ด้วย เพื่อการรายงานให้ทราบว่าคุยอะไรกันไปบ้างมีข้อเสนออย่างไร แบงก์โดยรวมเข้าใจธปท.ในสิ่งที่ธปท.กังวลและออกมาตรการออกมานายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวมาตรการครั้งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบของสถาบันการเงินในระบบได้ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ามีการแข่งกันกันปล่อยสินเชื่อกันค่อนข้างมาก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันดูแล และวางแนวทางกำกับร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และลดการเก็งกำไรในที่อยู่อาศัย และช่วยวางมาตรฐานให้แบงก์มีคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย

อนึ่ง ตามมาตรการดูแลสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของธปท. นั้น กำหนดให้การซื้อบ้านหลังที่สอง(สัญญาที่สอง) และบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ 20% หรือมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (LTV) ไม่เกิน 80% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1ม.ค.2562 จากการเปิดเฮียริ่งในรอบแรก มีการเสนอข้อคิดเห็นหลากหลาย ทั้งการเสนอให้เลื่อนบังคับใช้เป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 แทน เพื่อให้ตลาดมีการปรับตัว รวมทั้งเสนอให้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับบ้านหลังที่สามแทน บ้านหลังที่ 2 เป็นต้น

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

17 ตุลาคม 2561