วิภาวดี-จตุจักร ทำเลทองแห่งอนาคต

วิภาวดี-จตุจักร ทำเลทองแห่งอนาคต

หากมองว่า ถนนวิภาวดีรังสิต กำลังกลายร่างเป็นถนนเส้นธุรกิจแห่งใหม่ ก็อาจไม่แปลกแต่อย่างใด เพราะภายหลังจากมีรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542 ก็ได้มีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารทหารไทย อาคารซันทาวเวอร์ส เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ยูเนี่ยนมอลล์ หรือแม้กระทั่งห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ก็ยังมีการรีโนเวตปรับปรุงโฉมใหม่ ตลอดจน มีร้านค้าและอาคารพาณิชย์ต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการพัฒนาอสังหาฯ ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบโดดๆ อีกต่อไป แต่จะเป็น การผสมผสานโครงการให้มีความหลากหลาย เพื่อกำไรและความคุ้มค่าในด้านประโยชน์ใช้สอยหรือที่เรียกกันว่า มิกซ์ยูส คือเป็นที่อยู่อาศัย และอาคารเพื่อการพาณิชย์ โดยมิกซ์ยูสที่น่าสนใจส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน แหล่งความบันเทิง และที่อยู่อาศัย ซึ่งการพัฒนาโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการพัฒนาโครงการในรูปแบบอื่นๆ ทั้งยังมีผลดีต่อการพัฒนาเมืองที่ส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะที่ดินในส่วนนั้นจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หากมองในเชิงของนักลงทุนรายย่อยที่ซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไร ยังสามารถใช้ความครบครันเป็นตัวปั้นมูลค่าให้กับอสังหาฯ ที่ถือครองได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากองค์ประกอบของมิกซ์ยูสเข้าข่ายสินทรัพย์ที่ไม่มีวันด้อยค่าจากราคามูลค่าที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา โดยส่วนใหญ่โครงการมิกซ์ยูสจะถูกเลือกให้อยู่ในแหล่งที่มีแนวโน้มความเจริญในอนาคต เช่น บนทำเลที่คาดว่ามีรถไฟฟ้าผ่าน หรือมีห้างชั้นนำมาเปิดบริการ ทำให้บางทีราคาก็ทำท่าจะพุ่งแรงแซงไปก่อนรถไฟฟ้าเสียอีก และนี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ที่สนใจให้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้ของปัจจัยตลาดอสังหาฯ ที่เข้มข้น และตลาดคอนโด ที่ยังคงเติบโตทั้งจำนวนยูนิตและราคา ซึ่งสวนทางกับพื้นที่ที่ขยับขนาดให้เล็กลง เพราะคนมีความต้องการซื้อด้วยเหตุผลหลายอย่าง ได้แก่ ที่อยู่อาศัยใหม่ บ้านหลังที่สองใกล้ที่ทำงาน ลงทุน เก็บ เป็นทรัพย์สินหรือมรดกให้คนรุ่นหลัง เป็นต้น

ความน่าสนใจของโครงการสำหรับ ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาอาคารสำนักงาน ไม่ใช่แค่เรื่องศักยภาพทำเล แต่ยังคงมีรูปแบบการตกแต่งอาคารสำนักงานให้ผู้ประกอบการได้เลือกให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ หนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้าในการอำนวยความสะดวกนอกเหนือไปจากการส่งมอบอาคารสำนักงานทั่วไปที่มักจะส่งมอบแค่ห้องเปล่า (Bare Shell)

นอกจากนั้น รูปลักษณ์โครงการยังออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมประสิทธิภาพและสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานอาคาร ผ่านการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุที่มีมลพิษต่ำ และการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ความสบายในการทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

31 ตุลาคม 2561