ซีไอเอ็มบี ลุยหั่นดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน

ซีไอเอ็มบี ลุยหั่นดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน

"ซีไอเอ็มบีไทย" บุกหนัก สินเชื่อบ้าน คลอด "5 ผลิตภัณฑ์" ดอกเบี้ยพิเศษ เผยต่ำสุด 2.89% เจาะกลุ่มรายได้เกิน 3 หมื่นบาท คาด 6 เดือนสินเชื่อใหม่แตะ 1.5 หมื่นล้าน ดันยอดปล่อยกู้โต 50% ขณะปีหน้าคาดสินเชื่อบ้านคงค้างทุบสถิติ 1 แสนล้าน

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ออกโปรดักส์ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมุ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ เกิน 30,000 บาทขึ้นไปจนถึงผู้มีรายได้เกินระดับ 100,000 ล้านบาท

โดยเบื้องต้นเป็นการออก 5 โปรดักส์ โดยโปรดักส์แรก คือ 1.สินเชื่อบ้านใหม่ และบ้านมือสอง ทั้งคอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ต่างๆ โดยดอกเบี้ยพิเศษ 2.89% สำหรับช่วง 3 ปีแรก พร้อมฟรีค่าจดจำนอง 0.5% สำหรับพนักงานและเจ้าของกิจการที่มีรายได้รวมต่อเดือนเกิน 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นการให้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่า หากเทียบกับดอกเบี้ยบ้าน ในอดีต ที่มีการคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.33% 2.สินเชื่อบ้านแลกเงิน ที่คิดดอกเบี้ยเพียง 3.99% จากอดีตที่มีการคิดดอกเบี้ย เฉลี่ย 5.5% โดยกลุ่มนี้เน้นเจาะกลุ่ม ผู้มีรายได้ประจำและเจ้าของกิจการที่มี รายได้เกิน 100,000 บาทขึ้นไป โดยให้กู้ สูงสุด 10 ปี วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท 3.ถัดมาคือสินเชื่อ Proprety Loan สำหรับ ผู้ที่มีหลักประกัน เช่น อพาร์ตเมนต์ โกดังต่างๆ โดยให้ดอกเบี้ย 6.66% จากอดีต ที่กลุ่มนี้อดีตมีการคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 7-8% 4.สินเชื่อรีไฟแนนซ์ ให้ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.85% กู้ได้สูงสุด 85% และ 3.05% สำหรับ เจ้าของกิจการและผู้ที่มีรายได้ประจำที่มี เงินเดือนเกิน 30,000 บาทต่อเดือน และ 5.สินเชื่อรีไฟแนนซ์ แบบขอวงเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย เฉลี่ย 3.99% สำหรับรายได้เกิน 30,000 บาท ขึ้นไป โดยกำหนดการให้วงเงินกู้เพิ่มไม่เกิน 40% ของหลักวงเงินสินเชื่อต่อหลักประกัน (LTV) กู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยทุกแพ็คเกจ เป็นการให้ดอกเบี้ยพิเศษในช่วง 3 ปีแรก

โดยการให้ดอกเบี้ยพิเศษ ที่ต่ำกว่าตลาดในแต่ละโปรดักส์นั้น เนื่องจาก ธนาคารเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติ การผ่อนชำระมาแล้วเกิน 3 ปี และต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ซึ่งทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงต่ำ ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทำให้สามารถนำเสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาดได้

ทั้ง 5 โปรดักส์ของธนาคาร ตั้งเป้า ปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาปล่อยสินเชื่อถึงไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่ปีหน้าตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของที่อยู่อาศัยคาดว่าอยู่ที่  3 หมื่นล้านบาท ซึ่งพอร์ตสินเชื่อคงค้างคาดว่าน่าจะเกินระดับ 1 แสนล้านบาทได้

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าทั้งระบบที่เอ็นพีแอลมีทิศทางปรับตัวขึ้นและมีเอ็นพีแอลเกินระดับ 3% และคาดว่า ปีหน้าเอ็นพีแอลของธนาคารไม่น่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารเจาะคือกลุ่มที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทขึ้นไป ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระ และ มีหนี้ต่อรายได้ที่อยู่ระดับต่ำหากเทียบกับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ส่วนอัตราการอนุมัติสินเชื่อบ้าน ปัจจุบันอยู่ที่ 60-70% ขณะที่หากดูยอดการอนุมัติสินเชื่อ ผ่านระบบออนไลน์อยู่ที่ 80%

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

17 ธันวาคม 2561