เปิดพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าฉบับใหม่ ขยายเส้นทางเชื่อมปริมณฑล-อยุธยา-ฉะเชิงเทรา

เปิดพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าฉบับใหม่ ขยายเส้นทางเชื่อมปริมณฑล-อยุธยา-ฉะเชิงเทรา

ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) นัดแรกของปี 2562 มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมารับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “M-Map 2 Blueprint” ร่างพิมพ์เขียวฉบับนี้มีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันศึกษาจนแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ย. 2561

ขั้นตอนต่อจากนี้ “สนข.และไจก้า” ต้องรวมกันจัดทำแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำมาทดแทนแผนแม่บทรถไฟฟ้า หรือ M-Map ปัจจุบันที่การพัฒนาใกล้ครบกำหนด 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กม. โดยมีสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี บรรจุในแผนเป็นสายที่ 13

สำหรับคอนเซ็ปต์ M-Map 2 ทาง “ไจก้า” ใช้โมเดลจากญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบกำหนดทิศทาง จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากแผนแม่บทเดิม พร้อมกับขยายรัศมีพื้นที่ศึกษาจาก 20 กม. เป็น 40 กม. ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม พื้นที่ 8 อำเภอทางใต้ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา (ดูแผนที่ประกอบ) คาดว่ามีผู้เดินทางโดยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น 2561-2565 เช่น เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของโครงข่ายในปัจจุบัน, เร่งรัดโครงการให้ครบถ้วนตามแผนแม่บทปัจจุบัน, ส่งเสริมให้มีระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระยะกลาง 2566-2570 เช่น พัฒนาสถานีขนส่งให้มีประสิทธิภาพ, พัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง, พัฒนาให้มีระบบฟีดเดอร์สาธารณะ, พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี, ดำเนินมาตรการจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะและ ระยะยาว 2570-2580 เป็นการเพิ่มโครงข่าย เช่น ในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่จำเป็นและยังเข้าไม่ถึง, ตามแนวเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางสูง, เชื่อมต่อพื้นที่ศูนย์กลางเมืองรอง, เข้าถึงสนามบิน

ที่น่าสนใจ “ไจก้า” มีข้อเสนอแนะให้รัฐออกมาตรการจูงใจประชาชนให้เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กม.จากที่ทำงาน, ลดค่าโดยสารในเวลาไม่เร่งด่วนและเมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์และจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ หรือ car free day และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์

แต่ละเส้นทางต้องสอดคล้องกับการจัดวางผังเมืองรวมกรุงเทพฯและปริมณฑล จะกำหนดพื้นที่เป็นเมืองรองไว้รายล้อมกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการขยายเมืองจากใจกลางกรุงเทพฯไปยังชานเมืองมากขึ้น ในรัศมี 20-40 กม. ได้แก่ รังสิต มีนบุรี ลาดกระบัง สมุทรสาคร ศาลายา บางขุนเทียน สมุทรปราการ บางใหญ่ แคราย บางซื่อ มักกะสัน วงเวียนใหญ่ และสถานีแม่น้ำ อีกทั้งต้องเชื่อมต่อกับ 3 สถานีหลักที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางในอนาคต คือ สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน และสถานีแม่น้ำ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

15 มกราคม 2562