‘แอร์พอร์ตลิงค์’จ่อเดินรถสายสีแดงควบไฮสปีด

‘แอร์พอร์ตลิงค์’จ่อเดินรถสายสีแดงควบไฮสปีด

งวดเข้ามาทุกขณะกรณีที่บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดจะได้รับมอบหมายภารกิจใหม่จากปัจจุบันรับบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ให้ไปทำหน้าที่บริหารจัดการเดินรถไฟสายสีแดง คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในเร็วๆ นี้

ต่อเรื่องนี้ นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในครั้งนี้ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติมอบหมายให้ แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รับภารกิจเป็นผู้ บริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต

โดยการเสนอ ครม. พิจารณา จะครอบคลุมการอนุมัติทุนตั้งต้น 3,500 ล้านบาท และโอนทรัพย์สินขบวนรถที่การรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) จัดซื้อไว้รวม 25 ขบวน (130 ตู้) มูลค่า 6,500 ล้านบาท จัดเป็นทุนตั้งต้นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งตามกำหนดการขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในต้นปี 2564

ในส่วนเรื่องความพร้อมของบุคลากรนั้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 นี้จะร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) จัดส่งเจ้าหน้าที่แอร์พอร์ตลิงค์ชุดแรก 52 คนไปศึกษาระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตขบวนรถ ก่อนที่ในอนาคตพนักงาน 500 คนของรฟฟท.ก็จะถูกโอนย้ายไปบริษัทบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งหมด อีกทั้งจะต้องเปิดรับเพิ่มอีก 200 คน เพราะจากการประเมินโครงการว่าต้องมีพนักงานรวม 773 คนในช่วงเริ่มต้น

โดยช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ระบบบริหารจัดการและการจัดเก็บข้อมูลการซ่อมบำรุงต่างๆที่สามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในระบบทั้งหมดแล้วนั้นไปใช้งานได้ทันทีทั้งกับสายสีแดงและสายอื่นๆที่จะเข้าไปรับเดินรถในอนาคต ไม่เว้นแม้กระทั่งรถไฟไทย-จีน หรือไทย-ญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นภายหลังสายสีแดงเปิดให้บริการไปแล้ว

นอกจากการเดินรถแล้ว บริษัท รฟฟท. ยังได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 10 สถานีจากทั้งหมด 13 สถานี โดยร.ฟ.ท.จะยังบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต เอง คาดว่ารายได้เชิงพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 6% ของรายได้จากการเดินรถ โดยรายได้จากการเดินรถเมื่อคำนวณจากฐานผู้ใช้เฉลี่ยวันละ 86,000 คนในช่วงเริ่มต้น ค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 32 บาท บริษัท รฟฟท.จะมีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นปีที่ 7-10 โครงการจะเริ่มถึงจุดคุ้มทุนเริ่มมีกำไร

ประการสำคัญยังจะมีการหารือร่วมกับสถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้าในแนวเส้นทาง ตลอดจนบริษัทห้างร้านร่วมทำโปรโมชันการเดินทางเพื่อให้หันมาใช้ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงกันมากขึ้นต่อไป โดยสถานีรังสิต หลักหก ดอนเมือง บางซื่อ ยังเป็นจุดใหญ่ ของการเดินทางของสายสีแดง

 

ที่มา : หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

5 กุมภาพันธ์ 2562