บูมมิกซ์ยูส “ธนบุรี-ศิริราช” ผุดสถานีทำเลทองรถไฟฟ้า 3 สาย

บูมมิกซ์ยูส “ธนบุรี-ศิริราช” ผุดสถานีทำเลทองรถไฟฟ้า 3 สาย

พลิกโฉมทำเลธนบุรี-ศิริราช รับรถไฟฟ้า 3 สี ผุดศูนย์กลางระบบราง-เวลเนสใหญ่สุด เปิดกรุที่รถไฟ 21 ไร่ ติดสถานีธนบุรี ดึงเอกชนสร้างมิกซ์ยูส 3.3 พันล้าน ลงทุนห้าง-บัดเจตโฮเทล ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ อพาร์ตเมนต์ รองรับกลุ่มแพทย์ ญาติผู้ป่วย ผู้สูงวัย “เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ทีซีซี-ทุนโรงพยาบาล” เล็งปักหมุด ปิยะเวทมาแบบข้ามห้วย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.จะนำที่ดินย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 120 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ 2556 จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 34 ปี แยกเป็นก่อสร้าง 4 ปี และจัดหาประโยชน์ 30 ปี โดย ร.ฟ.ท.จะได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 992 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการเช่า 20% จำนวน 198 ล้านบาท ค่าเช่ารายปีเริ่มต้น 32 ล้านบาท ปรับขึ้นค่าเช่าทุก ๆ ปี ปีละ 5% รวมค่าเช่าตลอดสัญญา 30 ปี อยู่ที่ 2,439 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จจะมีรายได้รวม 2,638 ล้านบาท

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแผนจะลงทุนสร้างโรงพยาบาล 2 แห่งในฝั่งธนบุรี ในปี 2563 จะนำที่ดิน 6 ไร่ อยู่บนถนนวังหลัง ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีน้ำเงิน พัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 40 เตียง ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท และปี 2564 จะนำที่ดิน 6 ไร่ เยื้องกับพาต้าปิ่นเกล้า มาพัฒนาเป็นโรงพยาบาล อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเป็นขนาด 400 เตียง เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสนใจจะลงทุนพัฒนาย่านสถานีธนบุรี เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการใหม่ที่อยู่ใกล้กัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจลงทุนย่านฝั่งธนบุรี ทางโรงพยาบาลศิริราชก็มีแผนจะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ โดยเมื่อปี 2560 ได้หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม จะขอใช้พื้นที่เหนือสถานีศิริราช เป็น 1 ในสถานีของสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล

ความคืบหน้าล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือและพิจารณาแบบรายละเอียดร่วมกัน ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าจะสรุปในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ต้องเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยายที่ ครม.อนุมัติทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 วงเงินรวม 23,417 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท เพื่อเริ่มเดินหน้าก่อสร้างให้ทันปีนี้ ใช้เวลาสร้าง 5 ปี มีกำหนดเสร็จปี 2565-2566

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

11 มีนาคม 2562