ลูกหนี้แบงก์รัฐผิดนัดชำระพุ่ง ธอส.ไม่ห่วงตั้งทีมติดตาม-เร่งประนอมหนี้

ลูกหนี้แบงก์รัฐผิดนัดชำระพุ่ง ธอส.ไม่ห่วงตั้งทีมติดตาม-เร่งประนอมหนี้

เปิดตัวเลขหนี้ผิดนัดชำระกลุ่ม SM กลุ่มแบงก์รัฐ 6 แห่ง ไตรมาสแรกปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางเอ็นพีแอลที่ลดลง ธอส. เผยลูกหนี้กลุ่ม SM ขยับขึ้น เร่งส่งทีมประกบลูกหนี้ติดตามใกล้ชิด รับมีบ้างขาดส่งข้ามเดือน ลุยประนอมหนี้ มั่นใจเอาอยู่ไม่ตกชั้น เอ็นพีแอล "ฉัตรชัย" ปักธงสิ้นปี เอ็นพีแอลต่ำ 4% ดีกว่าเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยรายงาน "SFIs Monthly Report" ฉบับล่าสุด เดือนมี.ค. 2561 ระบุว่า ตัวเลขหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน (SM) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) มีแนวโน้ม "เพิ่มขึ้น"

โดยตัวเลข SM ณ ก.ย. 2559 อยู่ที่ 157,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 164,015 ล้านบาท ในเดือนธ.ค. 2559 จากนั้น ณ เดือนมี.ค. 2560 เพิ่มเป็น 165,107 ล้านบาท ถัดมา ณ เดือนก.ย. 2560 อยู่ที่ 171,892 ล้านบาท ส่วนเดือนธ.ค. 2560 อยู่ที่ 234,432 ล้านบาท และตัวเลขล่าสุด เดือนมี.ค. 2561 อยู่ที่ 229,468 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.07% ของสินเชื่อรวมที่อยู่ที่ 4,635,789 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561 ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีตัวเลข SM อยู่ที่ 2.99% หรือ 169,021 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าสถิติการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ สวนทางกับตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ลดลงจากเดือนม.ค. 2561 อยู่ที่ 243,830 ล้านบาท หรือ 4.31% ลดเหลือ 242,091 ล้านบาท หรือ 4.26% ในเดือนก.พ. 2561 และลดลงเหลือ 231,919 ล้านบาท หรือ 4.11% ในเดือนมี.ค. 2561

แหล่งข่าวจากธอส. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตัวเลขหนี้ SM ของธนาคารมีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้สูงจนเกินเกณฑ์ที่น่ากังวล เพราะธนาคารมีกลุ่มงานเฉพาะสำหรับดูแลลูกค้ากลุ่ม SM นี้อย่างใกล้ชิด เพราะในบางครั้งก็จะมีลูกหนี้ที่ชำระข้ามเดือนบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะไม่ให้เกิดปัญหากลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่จะกระทบต่อภาพรวม NPL ของธนาคารในปัจจุบัน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เป็น SM ของธนาคารก็อาจมีบ้างบางส่วนที่ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งถ้าดูเอ็นพีแอลที่มาจากสินเชื่อใหม่ พบว่ายังไม่ได้สูงกว่าตลาด โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วน เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.3% ของสินเชื่อรวม แต่อย่างไรก็ตามถือว่าอยู่ในระดับที่ธนาคารสามารถจัดการได้ตามแผนบริหารหนี้เสียโดยรวม เพราะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารมีแผนจะขายเอ็นพีแอลออกมาอีกราว 2 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้เอ็นพีแอลลดลงอีก 0.1% หรือเอ็นพีแอล จะลดลงมาเหลือต่ำกว่าระดับ 4% ได้ภายในสิ้นปีนี้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ