เทรดวอร์ ทุบธุรกิจไทย

เทรดวอร์ ทุบธุรกิจไทย

"สงครามการค้า" ระเบิดเวลาลูกใหม่ เริ่มออกฤทธิ์ฟาดหางเศรษฐกิจไทย "อสังหาฯ-ค้าปลีก-ท่องเที่ยว" ทรุดยกแผง ชี้ไทยพึ่งพากำลังซื้อจีนสูง สมาคมคอนโดฯเผยจีน "หยุดซื้อยื้อโอน" แอล.พี.เอ็น.ฯดิ้นช่วยยืดเวลาผ่อน เผยไตรมาสแรก "นักท่องเที่ยวจีน" วูบ 1.72% สมาคมท่องเที่ยวฯเตือนผู้ประกอบการไทยอย่าขยับลงทุน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ผลกระทบจาก "สงครามการค้า" ระหว่างสองมหาอำนาจ "สหรัฐและจีน" ที่มีมาตรการตอบโต้รุนแรงมากขึ้น สารพัดรูปแบบจนทำให้ลุกลามเป็น "สงครามเทคโนโลยี" (Tech War) รวมไปถึงที่หลายฝ่ายกังวลว่า จีนเปิดศึก "สงครามค่าเงิน" เพื่อต่อกรกับสหรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกชะลอตัว และทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยเดือน เม.ย.ติดลบ 2.6% ต่อเนื่อง เป็นเดือนที่สองจากเดือนมีนาคม 2562 ติดลบ 4.6%

และนอกจากภาคส่งออกแล้ว ภาคธุรกิจ ในประเทศไทยหลายเซ็กเตอร์ก็ต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าจีนที่เข้ามาท่องเที่ยว รวมทั้งเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์หดหายไป และกำลังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปในหลาย ๆ ธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจในประเทศพึ่งพากำลังซื้อจากชาวจีนค่อนข้างมาก

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศใน 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2562 มูลค่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.9% ที่น่าห่วงคือสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีน้ำหนักถึง 79.5% ของการส่งออก ติดลบ 2.15% โดยสินค้าน่าห่วงที่สุด คือ กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ -5.72% อิเล็กทรอนิกส์ -11.35% อัญมณีและเครื่องประดับ -8.33% พลาสติก -3.90% เครื่องจักรกล -12.22% และสิ่งทอ -1.43% เป็นต้น โดยส่งออกเดือน เม.ย.ติดลบ 2.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง จากเดือนมีนาคม 2562 ติดลบ 4.6%

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ลูกค้าชาวจีน ที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย กลุ่มที่จ่ายเงินดาวน์แล้ว 30% ยังคงมี การโอนกรรมสิทธิ์ เพียงแต่การโอนเงินอาจล่าช้ากว่ากำหนด ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อ ความรู้สึกลูกค้าก็อยากจะเก็บเงิน ติดตัวไว้ก่อน ซึ่งคาดว่าจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ล่าช้ากว่าปกติประมาณ 3-4 เดือน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีลูกค้าชาวจีนประมาณ 50% เริ่มดึงการจ่ายเงิน แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ยกเลิกการโอน ส่วนการขายใหม่ตอนนี้สะดุดอยู่แล้ว เนื่องจากชาวจีน wait and see ดูสถานการณ์ว่าจะยึดเยื้อ หรือรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่สายป่านเจ้าของโครงการว่าสายป่านยาวแค่ไหน หากลูกค้าจีนดึงการโอนช้าลง ถ้าสายป่านยาว กระแสเงินสดเงินหมุนเวียนดี ก็ยังพอเลี้ยงตัวเองได้ไม่กระทบ

นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิ" ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ ต่อชาวจีนที่จะเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในไทยอย่างแน่นอน ทั้งในแง่ของ เงินหยวนที่อ่อนค่าลง ดังนั้น ลูกค้า ที่เคยทำสัญญาซื้อขายไว้แล้วมาโอนในตอนนี้ ก็เสมือนซื้อสินค้าแพงขึ้นมา 5-10% จากค่าเงินที่อ่อนตัวลง

ด้านนายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หากสงครามการค้ายืดเยื้อจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจอสังหาฯ ของเชียงใหม่ เนื่องจากชาวจีนเป็นทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ซื้อคอนโดมิเนียมและบ้านกลุ่มหลักของเชียงใหม่ มองว่า ผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวจะไม่มากเท่ากับธุรกิจอสังหาฯ เนื่องจากชาวจีนที่มาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การจะหาผู้ซื้อคอนโดฯและบ้านมาทดแทนชาวจีนค่อนข้างยาก ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์ และเตรียมแผนสำรองรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ กระจายการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยว จีน หรือทำสัญญาทางธุรกิจกับนักลงทุนหรือผู้ซื้อจากจีนด้วยความระมัดระวังและเคร่งครัด

ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า สำหรับในส่วนของธนาคาร กสิกรฯที่อยู่ในประเทศจีน ก็ได้รับผล กระทบในแง่สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ลดลง ตามปริมาณการค้าที่ลดลง และความต้องการใช้เงินของลูกค้าในจีนที่ลดลง ซึ่งเคแบงก์ก็ระมัดระวังเพิ่มขึ้น ลูกค้ามาขอใช้วงเงินก็จะต้องถามข้อมูลมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น ส่งออกประเภทไหน ซัพพลายเออร์เจ้าไหน อย่างไรก็ตาม กสิกรฯถือว่าเล็กมากในตลาดจีน ดังนั้นจึงยังสามารถปรับไปหากลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า สงครามการค้าจีนสหรัฐที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง และคาดว่าจะไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากมีประเด็นอื่น ๆ ที่นอกเหนือสงครามการค้าซ่อนอยู่ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวน โดยเฉพาะแถบเอเชียเหนือ อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ค่าเงินตกต่ำลง ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนมองว่ามีความปลอดภัย (safe haven) เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ และสวนทางกับภูมิภาคที่อ่อนค่าลง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

27 พฤษภาคม 2562