บิ๊กอสังฯ ยันธุรกิจยังรับมือได้ โต้สมรภูมิไวรัส

บิ๊กอสังฯ ยันธุรกิจยังรับมือได้ โต้สมรภูมิไวรัส

          "ทริส"  มีความวิตกกันว่า ช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนครบกำหนดไถ่ถอนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถยืดอายุการชำระหนี้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์การขายค่อนข้างฝืด การโอนกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะต่างได้รับผลกระทบรุนแรง การระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 และประเมินว่าน่าจะลากยาวกลายเป็นเรื้อรังนับจากนี้ไปจนถึงปีหน้า ท่ามกลางสินค้ารอระบาย แนวราบ-คอนโดมิเนียมสะสมสูงกว่า 3 แสนหน่วย (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์) สอดคล้องกับทริสเรทติ้งยังมองภาพลบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดอันดับจำนวน 22บริษัทพบว่า ยอดขายในปี 2562 ลดลงถึง 33% เมื่อปีกับปี 2561 แต่วิเคราะห์ว่า สามารถชำระหนี้ได้

          "ทริส" มองว่า ด้วยอานุภาพทำลายล้างระบบเศรษฐกิจของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบ จึงเชื่อมโยงมาถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจนี้ตลาดซึมมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากเกณฑ์สินเชื่อแอลทีวีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ล่าสุดธปท.ยืนยันข่าวดีเตรียมซ้อนซื้อตราสารหนี้ที่มีอนาคต ซึ่งธุรกิจอสังหาฯอาจได้อานิสงส์ตามไปด้วย

          ด้านนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ย้ำในความมั่นใจว่าได้ปรับเปลี่ยนแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปรับการทำงานของทีมงาน ปรับเรื่องการขายที่ดึงเทคโนโลยี Virtual Tour 360 องศา ให้ลูกค้าชมบ้านเสมือนจริง ฯลฯ โดยในไตรมาสแรกบริษัทสร้างยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากรวมยอดจอง Pre-Approve และ Backlog เข้าไปจะทำให้บริษัทสามารถทำรายได้ในช่วงไตรมาสแรกคิดเป็น 35% ของเป้าทั้งปี 63

          ประกอบกับความแข็งแกร่งในแง่ของแผนธุรกิจ 5 ปี ของบริษัทที่มุ่งสร้างสมดุลรายได้ ที่ทางบริษัทมีธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ หรือธุรกิจรายได้ประจำจากแผนการกระจายรายได้เพื่อความมั่นคง โดยยังมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้

          นอกจากนี้ ในส่วนเรื่องของหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินที่บริษัทครบกำหนดเงื่อนไขที่ระยะเวลาชำระคืนในช่วงปีนี้ทั้งหมดนั้น บริษัทได้มีการวางแผนการเงินไว้โดยจะมีการขายทรัพย์สินในส่วนของโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ากว่า 120,000 ตร.ม. เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน ให้ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นปี มีสัดส่วนเท่ากับ 1.3%

          แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าโควิดจะมีอายุอยู่ได้ไม่ยาวนานนัก ทว่าการทำลายล้างระบบเศรษฐกิจ วันนี้พังพาบเกินเยียวยา แต่มุมกลับเชื่อว่าธุรกิจแต่ละค่ายต่างมีทางออกที่ดีโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์

          'แบงก์ชาติจะช่วยยืดอายุตราสารหนี้ออกไป เพราะการออกตราสารหนี้ช่วงนี้นักลงทุนคนไม่ค่อยเชื่อมั่นหากโครงการไปต่อไม่ได้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ : 9 เมษายน 2563