อสังหาฯชงนายกฯ ไทยบ้านหลังที่สอง ดึงต่างชาติซื้อที่อยู่

อสังหาฯชงนายกฯ ไทยบ้านหลังที่สอง ดึงต่างชาติซื้อที่อยู่

          นายกเทียบเชิญบิ๊กอสังหาฯถกกลยุทธ์ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดวันนี้ สมาคมอสังหาฯรวบรวมแนวคิดอสังหาฯทั่วประเทศ ขอนายกฯอุ้มรายเล็ก หนุนควบรวมกิจการแทนปิดกิจการ ชงจัดแคมเปญใหญ่ไทยแลนด์ "บ้านหลังที่สอง" ดึงต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัย ระบายสต็อก

          จากสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกงล้อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมูลค่าตลาดรวมหลายแสนล้านบาทต่อปี และหลักล้านล้านบาท หากรวมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดภาวะชะลอตัว สาเหตุหลักๆเกิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการคุมเข้มการให้สินเชื่อทางการเงิน เพื่อสกัดอัตราการก่อหนี้ครัวเรือนที่เริ่มสูงขึ้น กระทบต่อยอดขายอสังหาฯโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ซ้ำเติมด้วยมรสุมอีกระลอกใหญ่จากการระบาดของโควิด-19

          ความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ กลายเป็นหนึ่งเหตุผลที่รัฐบาลส่งหนังสือเชิญภาคธุรกิจอสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อร่วมหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมวาง"ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ (3 ก.ย.)

          สำหรับหน่วยงานที่ได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วยสมาคมและภาคธุรกิจที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯในแต่ละด้าน อาทิ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังมีบริษัทพัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วยนายนพร สุนทรจิตต์เจริญ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน รองประธานกรรมการ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)

          นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โกลเด้นแลนด์ เรสซิเดนซ์ จำกัด นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สมาคมอสังหาฯต่างได้ประชุมร่วมกันเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวมข้อเสนอในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อนำเสนอนายกต่อไป

          ทั้งนี้พบว่า แนวคิดที่จะนำเสนอนายกฯมีหลากหลายที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ อาทิ ข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาฯรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดจนขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องปิดและขายกิจการ โดยรัฐควรมีแนวทางช่วยเหลือที่หลากหลาย อาทิ บางรายไม่ต้องการขายกิจการทั้งหมด ก็ควรจะมีการส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการโดยการหาผู้ร่วมทุน พร้อมกันกับหาแหล่งเงินทุนให้กับอสังหาฯรายเล็ก

          ขณะเดียวกันกรณีที่ผู้ประกอบการอสังหาฯขนาดเล็กต้องการขายกิจการได้เสนอ ให้ภาครัฐลดกติกาและเงื่อนไขในการขายกิจการ เนื่องจากบางรายไม่สามารถขายกิจการได้ เพราะติดเงื่อนไขการจ่ายภาษี

          นอกจากนี้ ยังเสนอให้ใช้โอกาสจากการที่ไทยบริหารจัดการวิกฤติโควิดได้ดี ให้เป็นจุดแข็งของไทย เพราะทั่วโลกรับรู้ถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย จึงใช้สิ่งนี้ถือโอกาสที่ไทยจะจัดแคมเปญการโปรโมทครั้งใหญ่ว่าประเทศไทยเหมาะเป็นบ้านหลังที่สองที่ดีที่สุด "Thailand Best Second Home" เพื่อส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านในไทยได้ง่ายขึ้น จากที่เดิมติดปัญหาช่วงโควิด ทำให้เกิดปัญหาสต็อกอสังหาฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่เหลือขายในตลาดมีจำนวนมากขึ้น และหากต้องพึ่งพาเพียงกำลังซื้อภายในประเทศในการระบายสต็อก ประเมินว่าไม่เพียงพอ

          นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการบริหารจัดการกระจายอำนาจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากที่ผู้ว่าฯได้ทำผลงานอย่างดีเกี่ยวกับการเฝ้าระวังควบคุมการระบาดของโรค แต่สิ่งที่จะต้องบริหารจัดการต่อไป คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดที่ยังเป็นจุดอ่อนเพราะที่ผ่านมาปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจากส่วนกลางคิดหาวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ผู้ว่าในแต่ละจังหวัดสามารถมีอำนาจดำเนินการได้

          ด้านนายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากรวมมูลค่าธุรกิจอสังหาฯกับธุรกิจรับสร้างบ้าน พบว่า มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากภาคธุรกิจอสังหาฯ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้ความเข้มแข็งจากภายใน

          ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้ เตรียมเนื้อหาเสนอนายกฯในการดึงเงินเข้าระบบ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะตลาดรับสร้างบ้านในช่วงสิ้นปี2562 เติบโต 3% สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนสร้างบ้านเป็นกลุ่มคนที่มีเงินเก็บ หากกระตุ้นตลาดนี้จะสามารดึงเม็ดเงินจากผู้มีกำลังซื้อเข้าซื้อระบบได้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ : 3 กันยายน 2563