บ้านหลังแรกประชารัฐ มาแล้ว ครม.ไฟเขียวบ้านประชารัฐ

บ้านหลังแรกประชารัฐ มาแล้ว ครม.ไฟเขียวบ้านประชารัฐ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559ได้เห็นชอบโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ตามเงื่อนไข คือ
เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 20,000 บาท และไม่เคยมีที่อยู่อาศัยมาก่อนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง หรือเป็นการชั่วคราวบนที่ราชพัสดุในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท

รวมทั้งให้ผู้ที่ต้องการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุสามารถซ่อมแซมหรือต่อเติมได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ได้ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน เป็นผู้ให้เงินกู้ในอัตราผ่อนปรนทั้งผู้ต้องการมีที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการรวมกันเป็นวงเงิน 9,000 ล้านบาท แยกเป็นปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการจำนวน 4,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยผ่อนปรน ไม่เกิน 2 ปี ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย เป็นเวลา 30 ปี โดยเอกชนที่ร่วมโครงการจะยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการเช่าที่ดินราชพัสดุ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง ให้กับผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการบ้านประชารัฐรุ่นที่ 2 จากเดิมที่ดำเนินการบนที่ดินของเอกชนจึงทำให้ต้องกำหนดราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ในครั้งนี้เป็นการสร้างบนที่ราชพัสดุ จึงกำหนดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท นำร่องในปี 59 นี้ จำนวน 6 แปลง คือ
ที่กรุงเทพฯ 2 แห่ง, อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง, อ.แม่จัน จ.เชียงราย 1 แห่ง และที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง รวม 4,000 ยูนิต”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดจะเหมือนกับโครงการ
คือ ปีแรกไม่เสียดอกเบี้ย ปีที่ 2-3 คิดดอกเบี้ย 2% ปีที่ 4-6 คิดดอกเบี้ย 5% ปีที่ 7-30 คิดดอกเบี้ยลอยตัว โดยผู้ที่กู้เงิน 5 แสนบาท จะจ่ายค่างวดในปีแรกเดือนละ 2,100 บาท ปีที่ 2-3 จ่ายเดือนละ 2,100 บาท ปีที่ 4-6
จ่ายเดือนละ 2,900 บาท และปีที่ 7-30 ถ้าเป็นรายย่อยจ่ายเดือนละ 3,200 บาท หากเป็นเงินกู้สวัสดิการจ่ายเดือนละ 3,100 บาท

ส่วนวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ปีแรกจ่ายเดือนละ 4,200 บาท ปีที่ 2-3 จ่ายเดือนละ 4,200 บาท ปีที่ 4-6 จ่ายเดือนละ 5,800 บาท ส่วนปีที่ 7-30 หากเป็นเงินกู้รายย่อยจ่ายเดือนละ 6,400 บาท เงินกู้สวัสดิการจ่ายเดือนละ 6,200 บาท

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ไม่มีการเปลี่ยนมือ จึงกำหนดให้พื้นที่ในเขตพญาไท กรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่ง กำหนดเงื่อนไขการเช่าระยะสั้นเพียง 5 ปีเท่านั้น เพราะต้องการสนับสนุนให้ข้าราชการมีที่อยู่อาศัยในเขตเมือง เพื่อความสะดวกในการเดินทางมาทำงาน และยังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรุ่นผู้อยู่อาศัย โดยเปิดให้ผู้มีสิทธิรุ่นใหม่ได้เข้ามาอยู่แทน ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังกำหนดสิทธิการเช่า 30 ปีเหมือนเดิม ส่วนรูปแบบของที่อยู่อาศัยจะเป็นบ้านแถว บ้านเดี่ยว มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 48 ตร.ม.ต่อหน่วย และอาคารชุดพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตร.ม.ต่อหน่วย

นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม กำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคิดค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่ง จะเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ จำนวนแห่งละ 500 ยูนิต โดยเชื่อว่าจะมีข้าราชการเข้ามาจับจองเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงกำหนดให้สิทธิเฉพาะข้าราชการที่อยู่ในกทม.เท่านั้น จึงต้องใช้วิธีการจับสลาก ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้ง 3 แห่ง รวมกันประมาณ 3,000 ยูนิตนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้ามาก่อสร้างได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้เช่นกัน

“กระทรวงการคลังเชื่อว่าบ้านธนารักษ์ประชารัฐครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ราชพัสดุ เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง และจะช่วยใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าที่ดินราชพัสดุให้มากขึ้นด้วย”

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์